15 พ.ค., 2023
1. Private PPA Vs ลงทุนเอง อันไหนดี?
ปัจจุบันแผงโซล่าร์เซลล์มีราคาเริ่มถูกลง ในขณะที่ค่าไฟฟ้ายังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจึงปฏิเสธไม่ได้ว่าพลังงานแสงอาทิตย์ กลายเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะนอกจากช่วยให้คุณประหยัดเงินแล้วยังช่วยโลกได้ในเวลาเดียวกัน และในท้องตลาดการติดแผงโซล่าร์เซลล์มี 2 ทางเลือกให้คุณได้ตัดสินใจ คือ 1. Private PPA และ 2. การลงทุนซื้อด้วยตัวเอง แต่สิ่งสำคัญคือทางเลือกไหนล่ะที่จะเหมาะกับคุณ
โดยปกติเวลาที่คุณต้องการติดตั้ง Solar cell คุณคงต้องจ้างผู้รับเหมา หรือที่เราเรียกกันว่า EPC (Engineering Procurement and Construction) ซึ่งเป็นบริษัทที่รับผิดชอบออกแบบ จัดซื้ออุปกรณ์ และติดตั้งโซลาร์เซลล์ตามความต้องการของคุณพร้อมเสนอบริการที่เหมาะสม ซึ่งจะเสนอทางเลือกให้ 2 รูปแบบคือ
- Private PPA คือการที่ EPC จะลงทุนติดตั้งโซล่าร์เซลล์ให้กับคุณ โดยคุณจะจ่ายเพียงค่าไฟฟ้าที่อัตรา ของ กฟน./กฟภ. หลังหักส่วนลดที่ EPC เสนอ
- การจ้าง EPC ติดตั้งและบำรุงรักษาโซล่าร์เซลล์ให้กับคุณ โดยที่คุณเป็นคนลงทุนเองและเป็นเจ้าของโซล่าร์เซลล์ตั้งแต่วันแรก
หัวข้อ | Private PPA | Self-Investment |
กรรมสิทธิ์ | EPC | ลูกค้า |
การบำรุงรักษา | EPC ดูแล | ลูกค้ารับผิดชอบ หรือ EPC ดูแล |
เงินที่ประหยัด | ส่วนลดค่าไฟที่ผู้ให้บริการเสนอให้ | ประหยัดค่าไฟ โดยใช้ไฟจากที่โซล่าร์ผลิต |
เงินลงทุน | ไม่ต้องลงทุนเอง | ลงทุนเอง |
สิทธิประโยชน์ทางภาษี | ไม่มีสิทธิประโยชน์ทางภาษี | ลดหย่อนเป็นค่าเสื่อมได้ ได้รับสิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษีจาก BOI |
ไม่ว่าจะเป็นการทำ Private PPA หรือการลงทุนเองก็ดีทั้งนั้น แต่เพื่อให้เข้าใจได้ดีขึ้นว่าตัวเลือกไหนดีที่สุดสำหรับคุณ คุณควรพิจารณาจากสามสิ่งนี้
- คุณมีเงินสดเพียงพอที่จะลงทุนใน Solar cell หรือไม่?
- การเพิ่มขึ้นของค่าไฟฟ้ามีผลกระทบอย่างมากต่อผลกำไรของคุณหรือไม่?
- คุณเป็นเจ้าของอาคาร หรือมีสัญญาเช่าอาคารระยะยาว (มากกว่า 10 ปี) หรือไม่?
2. Private PPA ลงทุน 0 บาท ส่วนลดค่าไฟที่ถูกกว่า
PPA ย่อมาจาก Power Purchase Agreement เป็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างคุณกับบริษัท EPC (ผู้ลงทุนติดตั้ง Solar cell ให้กับคุณ) โดยที่คุณจะได้รับส่วนลดค่าไฟฟ้าตามที่ EPC กำหนด และมีระยะเวลาสัญญาโดยทั่วไปคือ 10-20 ปี จนเมื่อสิ้นสุดสัญญาคุณจะกลายเป็นเจ้าของ Solar cell โดยอัตโนมัติโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม
2.1 Private PPA ช่วยประหยัดไฟยังไง
ตัวอย่างการคำนวน
หัวข้อ | ก่อนทำ Solar PPA | หลังทำ Solar PPA (ส่วนลด 20%) |
1. ไฟฟ้าที่ใช้ทั้งหมด | 46,508 kWh /เดือน | 46,508 kWh /เดือน |
2. หน่วยค่าไฟฟ้า | 5.37 บาท/kWh | 4.30 บาท/kWh |
3. ค่าไฟฟ้าต่อเดือน (1. x 2.) | 250,000 บาท/เดือน | 200,000 บาท/เดือน |
4. ประหยัดค่าไฟ/เดือน | – | 50,000 บาท/เดือน |
5. ประหยัดค่าไฟ/15 ปี | – | 9,000,000 บาท |
สมมติว่าคุณใช้ไฟฟ้าทั้งหมดในเวลากลางวันเท่ากับ 46,508 kWh /เดือน
หน่วยค่าไฟฟ้าในเวลากลางวัน ของ กฟภ. เท่ากับ 5.37 บาท/kWh
ดังนั้น ค่าไฟต่อเดือนของคุณจะเท่ากับ 250,000 บาท/เดือน [46,508 kWh /เดือน x 5.37 บาท/ kWh]
สมมติว่า EPC เสนอส่วนลดให้กับคุณ 20% เมื่อเทียบกับอัตรา ของ กฟน./กฟภ. คุณจะประหยัดค่าไฟได้ ดังนี้
หน่วยค่าไฟฟ้าเมื่อติดตั้ง solar cell จะเท่ากับ 4.30 บาท/ kWh [5.37 บาท/ kWh x (100% – 20%)]
ค่าไฟต่อเดือนเมื่อคุณติดตั้งแผงโซลาร์ เท่ากับ 200,000 บาท/เดือน [46,508 kWh /เดือน x 4.30 บาท/ kWh]
*kWh = กิโลวัตต์-ชั่วโมง
ดังนั้น คุณจะประหยัดค่าไฟหลังติดตั้งแผงโซลาร์ถึง 50,000 บาท/เดือน (250,000 – 200,000 บาท) ซึ่งเท่ากับว่าคุณจะสามารถประหยัดได้กว่า 9 ล้านบาท ในระยะเวลา 15 ปี โดยที่ไม่ต้องลงทุนล่วงหน้า
*ตัวเลขดังกล่าวเป็นเพียงการคำนวนคร่าวๆ ควรติดต่อ EPC ในการคำนวนจริง*
2.2 ข้อดีของ Private PPA
- ไม่ต้องลงทุนเอง และไม่มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ
- ประหยัดค่าไฟได้ 10-30% เมื่อเทียบกับหน่วยค่าไฟของ กฟน./กฟภ.
2.3 ข้อเสียของ Private PPA
- หน่วยค่าไฟอ้างอิงตาม กฟน./กฟภ. ซึ่งหากมีการปรับขึ้นก็จะทำให้หน่วยค่าไฟฟ้าของเราเพิ่มขึ้นตาม
- ระยะเวลาของสัญญาปกติจะอยู่ที่ 10-20 ปี ซึ่งหากคุณมีสัญญาเช่าอาคารที่น้อยกว่า 10 ปี EPC อาจจะมองว่าไม่คุ้มค่าในการลงทุน หรือส่งผลให้ส่วนลดค่าไฟฟ้าต่อเดือนของคุณจาก EPC มีจำนวนน้อยลง
3. Self-Investment คืนทุนไวประหยัดไฟ 100%
ปัจจุบันด้วยต้นทุนแผงโซลาร์เซลล์ในตลาดมีราคาถูกลง ประกอบกับหน่วยค่าไฟที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้การลงทุนซื้อโซล่าร์เซลล์ด้วยตัวเองเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจมากกว่าหากคุณมีเงินสดเพียงพอพร้อมลงทุนล่วงหน้า เพราะคุณจะประหยัดค่าไฟได้มากกว่า Private PPA
3.1 ลงทุน Solar cell เองช่วยคุณประหยัดยังไง
ตัวอย่างการคำนวน
หัวข้อ | ก่อนติดตั้ง Solar cell | หลังติดตั้ง Solar cell (ลงทุนเอง) |
ไฟฟ้าที่ใช้ทั้งหมด | 46,508 kWh /เดือน | 46,508 kWh /เดือน |
หน่วยค่าไฟฟ้า | 5.37 บาท/ kWh | 0 บาท/ kWh |
ค่าไฟฟ้าต่อเดือน (1. x 2.) | 250,000 บาท/เดือน | 0 บาท/เดือน |
ประหยัดค่าไฟ/เดือน | – | 250,000 บาท/เดือน |
ประหยัดค่าไฟ/15 ปี | – | 45,000,000 บาท |
สมมติว่าคุณใช้ไฟฟ้าทั้งหมดในเวลากลางวันเท่ากับ 46,508 kWh /เดือน
หน่วยค่าไฟฟ้าในเวลากลางวัน ของ กฟภ. เท่ากับ 5.37 บาท/ kWh
ดังนั้น ค่าไฟต่อเดือนของคุณจะเท่ากับ 46,508 kWh /เดือน x 5.37 บาท/ kWh = 250,000 บาท/เดือน
หากคุณลงทุนติดตั้ง Solar cell เอง คุณจะต้องใช้เงินลงทุนทั้งหมดประมาณ 6,200,000 บาท
ในระยะเวลา 15 ปี คุณจะประหยัดได้กว่า 43 ล้านบาท!
สมมติว่าค่าไฟฟ้าของคุณคงที่ 250,000 ต่อเดือน ในระยะเวลา 15 ปีคุณจะประหยัดถึง 45,000,000 บาท
หลังหักค่าซ่อมบำรุงประมาณ 10,000 บาท/เดือน (1,800,000 บาท สำหรับ 15 ปี)
คุณจะประหยัดค่าไฟจริงๆอยู่ที่ 43,200,000 บาทนั่นเอง
หากคุณมองว่ามันคือการลงทุนในแผงโซล่าร์เซลล์ คุณจะมีผลตอบแทน (IRR) สูงถึง 46% ต่อปี และมีจุดคุ้มทุนภายใน 3 ปี!
*ตัวเลขดังกล่าวเป็นเพียงการคำนวนคร่าวๆ ควรติดต่อ EPC ในการคำนวนจริง*
3.2 ข้อดีของ Self-Investment
- ประหยัดค่าไฟได้สูงสุด
- หน่วยค่าไฟฟ้าจะไม่ขึ้นลงตาม กฟน./กฟภ. ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงในการเพิ่มอัตราหน่วยค่าไฟ
- ไม่ต้องมีสัญญาผูกมัดกับ EPC หรือผู้ลงทุนให้ซึ่งมีเวลาตั้งแต่ 10-20 ปี
3.3 ข้อเสียของ Self-Investment
- ต้องลงทุนเองซึ่งเป็นเงินก้อนจำนวนมาก
จะเห็นว่าการ Self-Investment ลงทุนเองจะช่วยประหยัดค่าไฟได้มากกว่า แต่ต้องใช้เงินก้อนจำนวนมากในการลงทุน ซึ่งหากคุณมีเงินสดไม่มากพอที่จะลงทุนด้วยตัวเองคุณจะทำอย่างไร?
คุณไม่ต้องกังวลไป เพราะไทยโอริกซ์เรามีบริการลีสซิ่งโซล่าร์เซลล์ โดยที่คุณไม่ต้องลงทุนเงินก้อนจำนวนมากในทีเดียว แต่คุณสามารถผ่อนชำระรายเดือนด้วยค่างวดที่ต่ำกว่าผลกำไรที่คุณจะได้รับ อีกทั้งยังไม่ต้องใช้หลักประกันเพิ่มเติม ในทางกลับกันหากคุณมองว่าการทำ Solar PPA เหมาะกับกิจการของคุณมากกว่า เราก็สามารถให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการเลือกกลุ่มบริษัท EPC ให้กับคุณได้เช่นกัน
ไทยโอริกซ์เราพร้อมให้บริการสินเชื่อลีสซิ่ง ด้วยประสบการณ์ที่ยาวนาน 40 กว่าปี ในประเทศไทยและยังเป็นเจ้าเดียวที่ให้บริการสินทรัพย์ลีสซิ่งที่หลากหลายและครบวงจรที่สุด สามารถติดต่อได้ที่ เบอร์ 02-792-4500
WRITTEN BY
Chortip.O